หนึ่งในลิสต์เส้นทางเดินป่าเมืองไทยของใครหลายๆคน คงหนีไม่พ้น “เขาหลวงสุโขทัย”
ด้วยเหตุผลหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นระยะทางจากเมืองหลวงที่การเดินทางไม่ทรมานร่างกายจนเกินไปนัก เนื่องจากจังหวัดสุโขทัยตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน หรือแม้กระทั่งระยะทางในการพิชิตยอดเขาก็สั้นเพียง 3.7 กิโลเมตรเท่านั้น
อีกทั้งยังมีการอำนวยความสะดวกต่างๆจากทางอุทยานอย่างครบครัน เช่น ลูกหาบ ร้านค้าสวัสดิการทั้งด้านล่างอุทยานและบนยอดเขา รวมทั้งนักท่องเที่ยวยังสามารถเช่าเต็นท์พักแรม เครื่องนอน และอุปกรณ์เครื่องครัวได้อีกด้วย ทำให้ “อุทยานแห่งชาติรามคำแหง” อันเป็นสถานที่ตั้งของเขาหลวงสุโขทัย เป็นอีกหนึ่งประตูสู่ป่าสีเขียวที่เปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ คล้ายเส้นทางฝึกหัดสำหรับผู้ที่หลงใหลในธรรมชาติ ที่เริ่มค้นหาความท้าทายมากกว่าแค่การเดินเข้าป่าตอนเช้าแล้วกลับเข้าเมืองตอนเย็น แต่ด้วยเหตุผลข้างต้นที่กล่าวมา
สถานที่แห่งนี้ก็ยังเปรียบเสมือนพื้นที่เซฟโซนบางๆ ไม่ทำให้คนที่บ้านเป็นห่วงมากนัก แต่ก็แอบหนักพอที่จะเอาไปโม้กับเพื่อนรวมงานได้ ว่าไปพิชิตมาแล้ว
การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติรามคำแหง
กลางเดือนกรกฎาคม เดือนที่ควรมีสายฝนโปรยชุ่มฉ่ำ การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติรามคำแหงที่คล่องตัวและประหยัดแรงที่สุดคือการนั่งรถ บขส.
เริ่มต้นจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ปลายทางไปยังจุดจอด อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ซึ่งจะมีรอบรถออกจากกรุงเทพฯ ประมาณ 20:30 น. และถึงที่หมายในเวลาประมาณ 03:30 น. หากมีรอบอื่นจะดึกสุดแค่ประมาณเวลาไม่เกิน 22:00 น.
และจะมาถึงในเวลาประมาณ 05:00 น เนื่องจาก อ.คีรีมาศ เป็นเพียงจุดจอดเล็กๆ ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ยังคงหลับลึก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวางแผนนัดแนะกับรถรับจ้างไว้ก่อน
โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นรถกระบะ มีค่าบริการอยู่ที่ประมาณ 400 ถึง 600 บาทต่อกลุ่ม ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับจำนวนคน และการตกลงกับรถเหมา
ในเส้นทางที่จะไปอุทยานจะผ่านตลาดเช้า ร้านสะดวกซื้อ หากใครต้องการทำอะไรที่ทานง่ายๆ อาจเลือกซื้อเป็นอาหารสำเร็จรูป ส่วนใครที่แบกอุปกรณ์การทำครัวมาจากบ้าน ก็สามารถเลือกซื้อของสด อาหารแห้งต่างๆ ไปได้เลย
เขาหลวงสุโขทัย อุทยานแห่งชาติรามคำแหง
เมื่อถึงเขตอุทยานจะต้องชำระค่าเป็นค่าเข้าอุทยาน คนละ 40 บาท สามารถเพิ่มอีก 10 บาทเพื่อทำประกันอุบัติเหตุถึงตรงนี้ให้ขอเบอร์โทรรถเหมาคันเดิมไว้ เพื่อจะได้ติดต่อนัดแนะเวลาในการเดินทางกลับ ส่วนทางอุทยานจะเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อเดินขึ้นเขาหลวงสุโขทัยในเวลาประมาณ 08:00 น. และไม่อนุญาตให้เดินขึ้นหลังเวลา 15:30 น.
หากใครมีเวลาเหลือค่อนข้างเยอะ ควรหาที่นอนเพื่อพักผ่อนเอาแรง จะนำผ้าใบมากางนอนแบบง่ายๆก็ได้ หรือจะกางเต็นท์ค้างคืนก็มีพื้นที่สีเขียวให้เลือกนอนได้ตามใจชอบ โดยเสียค่าบริการเพียง 30 บาทต่อคนเท่านั้น ส่วนใครต้องการใช้บริการลูกหาบ จะต้องรีบติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยาน เพื่อให้ลูกหาบมาแบ่งของและชั่งน้ำหนัก โดยมีค่าบริการอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท
ส่วนการเช่าเต็นท์ เครื่องนอนต่างๆ สามารถเช่าจองได้พร้อมกับการลงทะเบียนเพื่อเดินป่า หลังจากนั้นจึงนำใบเสร็จไปรับของด้านบน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นที่นอกเหนือจากนี้ จะเป็นค่ามัดจำขยะ 200 บาท จะได้คืนหลังนำขยะกลับลงมา นอกจากนี้อุทยานยังมีร้านค้าสวัสดิการ อาหารตามสั่ง ขนม และน้ำดื่มไว้บริการอีกด้วย
ธรรมชาติไม่เคยใจร้ายกับเรา จนกว่าจะแบกเป้หนักๆเพื่อเข้าไปพิชิตมันนั่นแหละ เพราะเส้นทางที่นี่ค่อนข้างชัน ก่อนมาจึงควรเตรียมร่างกายให้พร้อมกับการฝืนแรงโน้มถ่วงของโลก แต่เจ้าหน้าที่อุทยานก็ใจดีทำจุดให้นั่งพักเติมพลังเยอะพอสมควร
สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์สามารถเดินรวดเดียวจบโดยไม่ต้องพักกินข้าว ทำเวลาเพื่อไปหาอะไรกินบนจุดพักแรมทีเดียวได้เลย ตลอดเส้นทางจะมีน้ำดื่มที่มาจากภูเขาด้านบนเป็นท่อไหลออกมาให้เราเติมน้ำดื่มได้ตามจุดต่างๆ จึงไม่จำเป็นต้องพกน้ำดื่มไปเยอะมาก และบนจุดพักแรมก็มีน้ำสะอาดไว้บริการ
แต่หากต้องการห่อข้าวไปกินระหว่างทาง ควรเป็นอาหารที่ทานง่าย เช่นข้าวเหนียวหมูปิ้ง หรือข้าวประเภทของแห้ง เพราะตลอดเส้นทางอาจล้มลุกคลุกคลาน หากถุงแกงแตกในเป้ นอกจากอดกินแล้ว ยังต้องเสียเวลาล้างกระเป๋าใบโปรดอีกนานโข
เส้นทางเดินที่นี่ค่อนข้างชัดเจน สามารถเดินได้โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง ไม่จำเป็นต้องรอรวมกลุ่มกับใคร โดยปกติแล้วการเดินขึ้นเขาจะใช้เวลาประมาณ 3 ถึง 4 ชั่วโมงเท่านั้น จึงทำให้มีเวลาซึมซับกับบรรยากาศแบบไม่ต้องรีบร้อน แน่นอนว่าการทำเวลาให้รวดเร็วเป็นสิ่งที่คุ้มค่า แต่การใช้เวลาไปกับบางสิ่งที่ซื้อไม่ได้อาจมีค่ายิ่งกว่า
พื้นของอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ประกอบไปด้วยป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทำให้มีพืชพรรณที่ค่อนข้างหลากหลาย เรียกได้ว่าร่มรื่นไปตลอดเส้นทาง และหากเดินไปในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะพบกับต้นมะไฟที่ออกผลสีทองแน่นกระจุกอยู่บนคาคบไม้ มีรสหวานอมเปรี้ยว ช่วยเพิ่มสีสันให้การเดินทางมีรสชาติไม่น้อยเลยทีเดียว
นอกจากจุดพักกายแล้ว ยังมีจุดพักใจ เป็นจุดชมวิวที่ระดับความสูงประมาณ 576 เมตร หากใครมานั่งหอบอยู่จุดนี้ก็ปลอบใจตัวเองได้เลยว่ามาถึงครึ่งทางฝันแล้ว สามารถแวะเติมน้ำดื่ม นั่งกินข้าวรับลม พร้อมทั้งเหม่อมองปุยนุ่นสีขาวที่ลอยฟ่องอยู่เหนือผืนป่าแห่งนี้ได้อีกด้วย
ข้อดีของ เขาหลวงสุโขทัย ที่สาวๆหลายคนใฝ่ฝัน คือแทบไม่มีตัวทากให้พบเห็นเลย แต่อย่างไรก็ดี การเดินป่าควรแต่งตัวให้มิดชิด เพราะอาจมีคุ่น แมลงตัวเล็กคล้ายผึ้งที่หากโดนกัด ผิวหนังจะมีตุ่มแดง และคันมาก ส่วนเห็บ หากถูกกัด ผิวหนังอาจเป็นแผลเล็กๆ คันนานหลายเดือน หากรุนแรงมาก อาจทำให้ป่วยได้
เงยหน้าเดินมาเรื่อยๆจะพบกับจุดไทรงาม เป็นต้นไทรขนาดใหญ่รกครึ้ม เจ้าของฉายา “นักบุญแห่งผืนป่า นักฆ่าแห่งพงไพร” ด้วยกิ่งก้านสาขาที่แผ่โยงใยออกไป ใบเขียวขจีของมันให้ร่มเงาพักพิงแก่สรรพสิ่งทั้งหลาย
ลูกไทรก็นับเป็นอู่ข้าวของสัตว์นานาชนิด แต่ความเลือดเย็นของไทร เมื่อเมล็ดของมันตกลงยังพื้นดินและเติบโตขึ้นที่ใด รากไทรก็จะเกาะเกี่ยวยึดพันต้นไม้โชคร้ายต้นนั้น วันเดือนปีที่ไทรเติบโตยืดเหยียดลำต้น ไม้เหล่านั้นก็เหมือนถูกกลืนกินและหายไปอย่างช้าๆ ไร้ซึ่งเสียงร้องครวญคร่ำใดๆในผืนป่า แม้ว่าจะมีการประหัตประหารอย่างเลือดเย็นเกิดขึ้นที่นี่
เมื่อตะวันตั้งตรง และพลังงานเฮือกสุดท้ายใกล้หมด เราจะพบกับพื้นที่ที่ได้รับการปรับแต่งไว้อย่างดี นี่คือค่ายพักแรม หมุดสุดท้ายที่จะได้ปลดเป้ออกจากบ่าเสียที
จุดกางเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติรามคำแหง
คือค่ายพักแรมหรือลานกางเต็นท์ หมุดสุดท้ายที่จะได้ปลดเป้ออกจากบ่า พื้นที่นี้รองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 150 ถึง 200 คน ใกล้กับทางขึ้นจะมีจุดชมวิว ด้านขวาเป็นกระท่อมไม้ขนาดกะทัดรัด มีข้าวของเครื่องใช้ อุปกรณ์กางเต็นท์ไว้บริการ ด้านซ้ายไกลออกไปเป็นห้องน้ำมาตรฐานแยกชาย หญิง ด้านหน้าเป็นพื้นที่แบบขั้นบันได ถูกห่มคลุมไว้ด้วยหญ้าสีเขียวสั้นเตียน แสดงให้เห็นว่าได้รับการดูแลอย่างดี
สามารถบทความเรื่องการเลือกเต็นท์ได้ที่นี่นะคะ
หากใครใช้บริการลูกหาบ ก็เดินหาสัมภาระของตัวเองได้เลย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเต็นท์จะถูกกางไว้ให้อย่างเสร็จสรรพ ลึกเข้าไปบริเวณจุดพักแรมมีหมู่ไม้ยืนต้นขนาดโตกำลังดีคอยให้ร่มเงา เหมาะแก่ผู้ที่ชื่นชอบมุมสงบ และข้อดีคือสามารถผูกเปลนอนได้ แต่หากใครชอบทิวทัศน์กว้างๆ ก็เลือกพื้นที่บริเวณด้านหน้าได้เลย
เส้นทางการเดินรอบเขาหลวงสุโขทัย
เอกลักษณ์ของเขาหลวงสุโขทัย คือการมีจุดชมวิวที่หลากหลาย
โดยจะมีเส้นทางเป็นวงรอบ หากใครอยากไปแค่จุดใกล้ๆ ก็สามารถไปกลับได้ในระยะสั้นๆ
แต่หากใครต้องการเดินเล่นชมธรรมชาติไปด้วย ก็อาจต้องเตรียมตัวและเผื่อเวลากันหน่อย เพราะระยะทางที่ต้องเดินนั้นไกลพอสมควร
โดยบริเวณจุดพักแรมจะแสดงแผนที่คร่าวๆให้นักท่องเที่ยวเห็นจุดชมวิวแต่ละจุด ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำหลังจากมาถึงจุดพักแรม คือจัดการเรื่องที่พัก เติมพลัง อาจจะชำระร่างกายให้สดชื่น
หากเป็นไปได้ควรทำอาหารบางส่วนไว้ก่อน เช่นการหุงข้าว เตรียมวัตถุดิบต่างๆ หรือถ้ามีสมาชิกในกลุ่มไม่ได้เดินทางไปด้วย ระหว่างรอก็สามารถทำอาหารไว้ได้เลย
เมนูอาหารส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่าย ทำง่าย และทานง่าย ยกตัวอย่างเช่น เมนูไข่ทั้งหลาย แต่ข้อเสียของไข่คือแตกง่าย จึงควรมีภาชนะใส่โดยเฉพาะ หรือตอกไข่ใส่ในขวดน้ำไว้เลย ของแห้งเช่น กุนเชียง เนื้อแห้ง หมูแผ่น ไส้กรอก น้ำพริก หรือประเภทอาหารกระป๋อง แต่บนยอดดอยอากาศจะค่อนข้างหนาว จึงขาดเมนูประเภทต้ม หรือแกงไปไม่ได้ เช่นแกงจืด ต้มยำ ซุปต่างๆ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้พลังงานที่หายไปกลับคืนมาได้ไม่ยาก
หลังจากนี้จะมีเวลาว่างประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนถึงเวลาบ่ายแก่ๆ ลองทิ้งตัวลงบนผืนผ้าใบ ทิ้งภาระต่างๆไว้ในผืนป่า ปิดเปลือกตาโดยไม่ต้องคิดอะไรมากมาย ปล่อยประสาทสัมผัสการรับรู้เพียงการได้ยิน ปล่อยให้การเป็นไปของธรรมชาติพาดผ่านเข้ามาในหัวใจ ปล่อยให้ร่างกายได้ใกล้ชิดกับผืนดิน
แต่หากยังมีแรงเหลือก็สามารถเดินเล่น ถ่ายรูปบริเวณจุดชมวิว สำรวจรอบๆ และดื่มด่ำกับธรรมชาติบริเวณลานกางเต็นท์อย่างไม่ต้องรีบร้อน
จุดชมพระอาทิตย์ตก
เวลาประมาณ 15:30 น. หลังจากได้พักผ่อนไปพอสมควรแล้ว ก็จะต้องเตรียมตัวเดินไปยังจุดชมวิว
หากใครไปเพียงจุดชมวิวผานารายณ์ หรือบริเวณใกล้เคียง ก็อาจลดหลั่นเวลาลงมาได้อีก แต่เหตุผลที่ต้องเผื่อเวลา เพราะการไปจุดชมวิวครั้งนี้จะเดินจนครบวงรอบ ซึ่งจุดสุดท้ายคือภูกา อาจกินเวลาประมาณ 2 ถึง 3 ชั่วโมง
โดยปกติจะเริ่มต้นที่จุดชมวิวผานารายณ์ ผ่านจุดสถานี ท.อ. แวะจุดชมวิวผาชมปรง และนักท่องเที่ยวหลายคนมักเลือกปักหลักที่จุดชมวิวแม่ย่าเป็นจุดสุดท้าย เนื่องจากหากไปไกลกว่านี้ ขากลับจะมืดแน่นอน ฉะนั้นจึงต้องเผื่อเวลาไว้พอสมควร
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องเตรียมไปด้วยคือ เสื้อกันหนาว ไฟฉาย น้ำดื่ม และโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากบางพื้นที่ยังมีสัญญาณให้สามารถติดต่อกันได้ อุปกรณ์ทุกอย่างควรอยู่ในวัสดุที่สามารถกันน้ำ
เส้นทางเดินไปยังจุดชมวิว ในช่วงแรกเป็นทางโปร่งและกว้าง แม้สองฝั่งจะเป็นป่าสูงท่วมหัว แต่ก็ไม่รกทึบ พื้นดินได้รับการปรับแต่งคล้ายขั้นบันได ทำให้เดินสะดวกและทำเวลาได้ดีพอสมควร
ใช้เวลาเพียง 10 ถึง 15 นาที ก็มาถึงจุดชมวิวแรก คือ ผานารายณ์ บริเวณโดยรอบค่อนข้างโล่ง แทบไม่มีสิ่งใดบดบังสายตา มีจุดถ่ายรูปหลายจุด ลักษณะเป็นผาชันมีหินขนาดใหญ่ตั้งประดับอยู่ริมผา
เมื่อมองลงไปจะพบกับทิวทัศน์ของเมืองสุโขไทยไกลลิบตา สถานที่แห่งนี้ทำหน้าที่ราวกับห้องรับแขกยามเช้า มันเฝ้าดูผู้คนผ่านเข้ามาแล้วจากไป บ้างหวังจะเจออากาศเหน็บหนาว บ้างหวังจะเห็นหมอกขาวลอยฟุ้งตรงหน้า บางคนผิดหวัง บางคนสมหวัง แต่สิ่งหนึ่งที่ภูผาแห่งนี้อยากบอกแขกทุกคนเหลือเกิน
“มนุษย์เอย นี่แหละ ธรรมชาติ”
ผาชมปรง
ปลีกตัวออกจากจุดชมวิวแรก เดินต่อไปยังผาชมปรง เส้นทางนี้จะผ่านลานบิน เป็นลานกว้าง พื้นที่โดยรอบได้รับการปรับแต่งอย่างราบเรียบโดยใช้วัสดุโลหะเพื่อใช้เป็นพื้นที่จอดเฮลิคอปเตอร์ เส้นทางเดินยังค่อนข้างชัดเจน และเดินได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้แรงเยอะเนื่องจากวงรอบของจุดชมวิวนั้นอยู่บนยอดดอย
ความแตกต่างระหว่าง ผานารายณ์ กับ ผาชมปรง
คือจุดแรกจะหันเข้าหาตัวเมือง ความทึบของแมกไม้ดูเบาบาง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพื้นที่ทำเกษตรเสียมากกว่า
ส่วนจุดชมวิวผาชมปรงมีลักษณะพื้นที่โดยรอบไม่กว้างนัก แต่ทิวทัศน์ตรงหน้ากลับกลายเป็นพื้นที่สีเขียวทะมึน กว้างไกลสุดสายตา ชั้นหินน้อยใหญ่ที่เกิดจากการเบียดเสียดกันของเปลือกโลกเมื่อหลายล้านปีที่ผ่านมา กลายเป็นกำแพงหินตั้งตระหง่านสลับซับซ้อนราวเกลียวคลื่นมรกต
แม้สมองจะคํานวณเวลาเผื่อไว้แล้ว แต่หัวใจมักเอ้อระเหยลอยลมอย่างไม่ใยดี เส้นทางต่อจากนี้ไปอาจต้องทำเวลากันเล็กน้อย ลักษณะป่าเริ่มเปลี่ยนไปจากช่วงแรก แมกไม้หนาทึบและสูงใหญ่กว่าเดิม บางช่วงมองไม่เห็นท้องฟ้า คงมีเพียงแสงตะวันที่ยังลอดส่องเข้ามาปัดเป่าความมืด บนเส้นทางนี้ยังคงเจอเพื่อนร่วมทางบ้าง บางครั้งเดินไปพร้อมกัน บางครั้งเดินสวนกัน ใต้ร่มเงาป่าไม้เรายิ้มให้กันอย่างไม่เขินอาย ต่างจากใต้เงาตึกสูงเสียดฟ้า เรากลับก้มหน้า และไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งรอบตัวแม้แต่น้อย
จุดชมวิวแม่ย่า
ณ จุดชมวิวแม่ย่า นักล่าแสงเย็นมักจะมาปักหลักรวมกันเพื่อปล่อยตัวเองให้จมลงไปพร้อมกับแสงสุดท้ายของวัน อากาศที่เริ่มเปลี่ยนทำให้รู้สึกดียิ่งขึ้นเมื่อได้ใกล้ชิดกับใครสักคน
การเดินทางครั้งนี้ แม้ไม่ได้พบกับทะเลหมอกสีขาว แต่มันก็ทำให้เราเห็นป่าสีเขียวได้อย่างเต็มสายตา
หลายคนที่ยังไม่เคยใกล้ชิดธรรมชาติ อาจมองว่าการอาบป่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว และช่วยอะไรไม่ได้ แต่ในแง่ของวิทยาศาสตร์นั้น การได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้ยินระดับเสียงที่ทุ้มแหลมต่างกันของสรรพสิ่งต่างๆ ทำให้จิตใจเราผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น กลิ่นดินหลังฝนตกมีเคมีบางอย่างลอยฟุ้งขึ้นมา ทำให้เรารู้สึกสดชื่นอย่างประหลาด
จิตวิทยาของสีเขียวก็ให้ความรู้สึกเย็นสบาย รู้สึกปลอดภัย และความเป็นไปอย่างเนิบช้าของธรรมชาติ ก็บังคับให้เราหยุดนิ่งไปกับมันด้วย เรื่องราวต่างๆในก้นบึ้งของความคิดที่เคยพับเก็บไว้ ก็ถูกดึงขึ้นมาทบทวนย้อนนึกถึงมันอีกครั้ง
…ก็คงไม่แปลก หากเราจะคิดถึงใครสักคนในช่วงเวลานี้
หลังจากใช้เวลาไปพอสมควร ก็ต้องเดินทางต่ออีกครั้ง เส้นทางระหว่างจุดชมวิวแม่ย่าไปยังจุดชมวิวภูกา เป็นทางที่เรียบง่ายและโล่ง แทบไม่มีต้นไม้มาบดบังทิวทัศน์ เดินถ่ายรูปไปได้ตลอด
ในจุดนี้เจอนักท่องเที่ยวเพียง 3-4 คนเท่านั้น นี่คงเป็นจุดสุดท้ายที่เราจะฝังตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติในช่วงเวลาสั้นๆ ม่านสีฟ้าแต้มขาวที่เคยห่มคลุมโลกใบนี้ไว้
ขณะนี้กำลังเปลี่ยนฉากไปสู่ความมืดมิด มีเวลาเพียงอึดใจเดียวเท่านั้นที่มนุษย์จะได้เห็นการแสดงนี้ พระอาทิตย์ยังคงลับหายไปเหมือนทุกๆวัน แต่จุดที่เรายืนมองมันกลับแตกต่างจากเมื่อวาน บริเวณจุดชมวิวภูกา มีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง ลักษณะเป็นเนินสูง ประกอบไปด้วยหินขนาดใหญ่ประดับเรียงรายอยู่ริมผา
ข้อแนะนำสำหรับคนที่จะมาจุดชมวิวแห่งนี้ คือควรมีเพื่อนร่วมทางมาด้วย
สิ่งของจำเป็นที่ขาดไม่ได้คือ ไฟฉาย น้ำดื่ม และเสื้อกันหนาว เนื่องจากเส้นทางขากลับนั้นค่อนข้างทึบ อากาศหนาว
และเมื่อแสงของวันหมดลง ป่าแห่งนี้ก็มืดมิดลงทันที หลังจากมาถึงภูกาแล้ว ลองหามุมสงบสักที่ ใครที่พกของกินมาด้วย รับรองว่ามันจะรสชาติดีกว่าเดิมมากทีเดียว ใครที่อ่อนล้าจากการเดินมาทั้งวัน นั่งเหยียดขานิ่งๆดูสักพัก ไม่มีอะไรต้องแปลกใจ
หากในช่วงเวลาหนึ่งสมองจะตั้งคำถามกับกล้ามเนื้อว่า “เรามาทำอะไรที่นี่” เพราะสายลมอ่อน แสงแดดอุ่น พฤกษาพนาไพรใบสีเขียวที่พลิ้วระริกอยู่รอบตัว จะให้คำตอบกับหัวใจเองว่าเราเหนื่อยเพื่ออะไร
เมื่ออยู่ใต้เคหาคอนกรีต อาจไม่ได้สังเกตว่าตัวเราใหญ่แค่ไหน มันอาจรู้สึกอึดอัดและคับแคบ แต่เมื่อพ้นชายคาก้าวเข้าสู่ผืนพงไพร ร่างกายที่เคยใหญ่อวดทะนงนั้นกลับเล็กจ้อย คงมีเพียงหัวใจเท่านั้นที่กำลังพองโต
บทสรุปของการเดินทาง
“บางคนออกเดินทางเพื่อพบเจอและรู้จักผู้คนมากมาย แต่อีกหลายคนกลับเดินทางเพื่อที่จะทำความรู้จักตัวเอง”
ค่ำคืนบนเขาหลวงสุโขทัยนั้นมืดและเงียบสนิท ไม่ต้องคาดหวังถึงสภาพอากาศที่เย็นยะเยือกจนปวดกระดูก
นักท่องเที่ยวบางกลุ่มกำลังล้อมวงสนทนากันอย่างสนุกสนาน บางกลุ่มยังยุ่งอยู่กับการทำครัว บางคนถือกล้องออกไปหวังจะถ่ายภาพท้องฟ้ายามราตรี บางคนถือโทรศัพท์มือถือหวังจะติดต่อกับใครสักคนที่อยู่แสนไกล
ในช่วงเช้าจะเป็นช่วงที่ค่อนข้างวุ่นวายเล็กน้อย บางคนเลือกเดินไปยังจุดชมวิวผานารายณ์
บางคนเริ่มเก็บเต็นท์เตรียมเดินทางกลับ สิ่งหนึ่งที่ละเลยไปไม่ได้คือการเก็บขยะกลับลงไป เนื่องจากด้านล่างอุทยานมีระบบการจัดการขยะที่ดีกว่า ซึ่งจะได้เอาเงินประกันค่าขยะคืนด้วย
เหนือความประทับใจอื่นใด อุทยานแห่งชาติรามคําแหงมีห้องน้ำที่ได้มาตรฐาน และสะอาดมาก
หากจะพูดว่าเทียบชั้นกับรีสอร์ทบางแห่งก็ไม่เกินความจริงนัก อาคารของห้องน้ำแยก ชาย-หญิงอย่างชัดเจน ภายในห้องน้ำตกแต่งอย่างร่มรื่นสะอาดตา มีทั้งห้องน้ำ ห้องอาบน้ำที่เพียงพอต่อจำนวนนักท่องเที่ยว
เหนื่อยจากการเดินป่ามาเยอะ ได้สัมผัสน้ำเย็นๆ ในสภาพแวดล้อมดีๆ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ร่างกายพร้อมเดินทางต่ออีกครั้ง
จากนั้นใครที่เดินทางกลับก็ให้รถเหมาไปส่งที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสุโขทัยได้เลย
นี่คงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีกลุ่มคนเล็กๆได้มาใช้ชีวิตร่วมกัน ผ่านเส้นทางลำบากมาด้วยกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆต่อกัน
ความสุขของการเดินป่าก็คงมีเพียงเท่านี้ เผลอลืมเรื่องทุกข์ใจไปชั่วขณะหนึ่ง เปลี่ยนความกดดันเป็นพลังงานบางอย่าง แบตเตอรี่หัวใจได้ชาร์จไฟพร้อมกลับไปสู้ต่อ และวันใดเมื่อไฟในใจใกล้มอดดับลง วันนั้นเราคงได้เจอกันอีกครั้ง…
สนใจอยากได้อุปกรณ์การเดินทางแบบนี้ ทักติดต่อหาพวกเราได้เลยนะที่นี่ กดแอดไลน์